คงติดนิสัยจากการตามทีมวิจัยไปถ่ายภาพค่างแว่นถิ่นเหนือหลังจากนั้นเป็นต้นมา การตามถ่ายภาพสัตว์ป่าแต่ละชนิดจึงใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน
ผมเอาเสี้ยวหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากทีมวิจัยมาปรับใช้กับการถ่ายภาพเริ่มจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่เราสนใจ จากนั้นก็ติดตามดูพฤติกรรมให้รู้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของปีพวกเขาอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร ทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาวางแผนถ่ายภาพพฤติกรรมที่ได้พบเห็นออกมาให้เป็นภาพที่น่าสนใจ
ในปีแรกที่มาเรียนรู้และถ่ายภาพนกเงือกร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ผมยังใช้กล้องฟิลม์ ลังเลที่จะเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตอล ผ่านไปเกือบปีข้อจำกัดของฟิลม์ทำให้โอกาสในการได้ภาพดีๆหลายครั้งหลุดลอยไปโดยเฉพาะในสภาพที่มีแสงน้อยๆ ตอนแรกไม่ได้กังวลอะไรเลยเพราะอยู่ในช่วงสำรวจและเรียนรู้วิถีชีวิตของนกเงือก ยังมีเวลาให้ตามถ่ายภาพแก้ตัวได้อีกเยอะแต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไปจะเป็นฤดูทำรังวางไข่ของนกเงือกนกเงือกตัวเมียจะเข้าไปขังตัวอยู่ในโพรงและปิดปากโพรงเพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาทำร้ายช่วงนี้นกจะมุดเข้า-ออกโพรงอยู่หลายวัน เป็นช่วงที่อ่อนไหวมาก นกจะระแวงและกลัวหากนกเห็นคนมาใกล้โพรงก็มักจะทิ้งโพรงไปทันที ซึ่งหมายถึงนกจะไม่ทำรังวางไข่ในฤดูนั้น(ยกเว้นโพรงที่อยู่ข้างถนนซึ่งคุ้นเคยกับการปรากฏตัวของคน แต่ถ้ามีคนมารบกวนมากๆก็จะเข้าโพรงช้ากว่าปรกติ)
ประมาณปลายเดือนมีนาคมลูกนกเงือกแต่ละชนิดก็ทยอยฟักเป็นตัวพ่อนกต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาอาหารมาป้อนแม่และลูกให้เพียงพอ ราวกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปลูกนกเงือกก็เริ่มออกจากโพรง พ่อ-แม่จะพาหัดบินสอนให้หากินอยู่อีกราวสองเดือนจึงเริ่มพาไปเข้าสังคมกับนกครอบครัวอื่น ตกเย็นก็เริ่มพาไปรวมฝูงนอนกับกลุ่มนกวัยรุ่นที่ยังไม่จับคู่ทำรัง
นกบินไล่หยอกเล่นกันกลางอากาศคาดว่าอาจจะเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีกันของนกวัยรุ่น
ครั้งแรกที่ตามทีมวิจัยไปนับนกที่มารวมฝูงนอนผมพบนกกกประมาณ๒๐ ตัวบินมาเกาะรวมกันอยู่ที่ต้นไม้ข้างๆซุ้มบังไพรตั้งแต่ตอนที่ยังมีแสงพี่ผู้ช่วยนักวิจัยบอกว่านกกกมาเกาะรวมกันเยอะขนาดนี้ตอนที่แสงดีๆแบบนี้ไม่ได้พบกันได้ง่ายๆทว่าถึงจะมีแสงแต่ก็มีน้อยเกินความสามารถของฟิลม์ ISO 100
ช่วงนั้นพบนกมารวมฝูงอยู่หลายวันแต่ถ่ายภาพไม่ได้เลยได้แต่นึกในใจ ไม่เป็นไร! ปีหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ ...
ทว่าปีต่อมานกไม่มารวมฝูงในจุดที่เฝ้ารอ
บริเวณที่นกกกมารวมฝูงนอนมักอยู่ในหุบเขาที่หลบลมได้ดีในรอบปีจะเปลี่ยนที่นอนไปตามแหล่งอาหาร จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งจนกว่าอาหารในบริเวณนั้นหมดก็จะย้ายไปหาที่กินที่นอนแห่งใหม่
ฤดูรวมฝูงของอีกปีต่อมาผมก็แวะเวียนไปดูและคอยฟังข่าวจากทีมวิจัยอยู่ตลอดนกมานอนแต่ก็น้อยมากไม่ถึงสิบตัว และพบอยู่เพียงสองสามวันในปีถัดมาถึงพบนกฝูงใหญ่กลับมารวมกันอีก
เมื่อฝูงนกกลับมาผมจึงไปเฝ้าอยู่หลายวันส่วนใหญ่นกมาตอนมืดมาก แม้กล้องดิจิตอลที่ถ่ายภาพในแสงน้อยๆได้ดีกว่าฟิลม์มากมายแต่ก็ทำได้แค่นั่งดูบางวันที่นกมาตอนยังมีแสงแต่ฝนตกหนักไปจนมืดไม่ได้เอากล้องออกจากกระเป๋าด้วยซ้ำ และบางวันนกก็ไม่มามีวันเดียวที่นกมาตอนที่ยังพอมีแสงให้ได้ถ่ายภาพแต่ก็ไม่ดีนัก
นกมานอนอยู่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็ย้ายไปนอนที่อื่น
กลางฤดูฝนปีที่ห้าที่มาเฝ้าดูนกกกรวมฝูงอาหารในบริเวณนั้นคงสมบูรณ์มาก พบนกมานอนอยู่ราวสองสัปดาห์ นกยังมานอนตอนมืดแทบทุกวันในแต่ละวันจำนวนที่มาก็ไม่แน่นอน วันนี้นับได้สี่สิบตัวแต่วันต่อมาพบแค่สองตัวและบางวันก็ไม่มา
วันที่ได้ถ่ายภาพผมพบนกกกราว ๑๐ ตัวอยู่บนสันเขาห่างออกไปกว่าห้าร้อยเมตรตั้งแต่ห้าโมงเย็นนกหลายตัวบินไล่หยอกเล่นกันกลางอากาศ กว่าจะบินมาเกาะพักอยู่บนต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากซุ้มบังไพรก็หลังหกโมงเย็นยิ่งมืดยิ่งมีนกบินมาจากทิศทางอื่นๆ ตามมาสมทบ เข้ามาเกาะตามต้นไม้โดยรอบมากขึ้น นับได้ราว๖๐ ตัว จนเมื่อมีนกตัวหนึ่งร่อนนำลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง ตัวอื่นๆ ก็ทยอยร่อนตามไปนกส่วนใหญ่เกาะนอนบนต้นไทร ที่เหลือกระจายกันนอนบนต้นไม้ข้างเคียง
ตอนที่นกมาเกาะรวมอยู่บนต้นไทรแสงเหลือน้อยมากมองผ่านวิวไฟน์เดอร์เห็นภาพแค่ลางๆ ต้องใช้วิธีถ่ายภาพแล้วเปิดดูภาพจากหลังกล้องเพื่อปรับโฟกัสของเลนส์ให้ได้ภาพที่ชัดถ่ายไปค่อยๆ ปรับไป แต่ถ่ายได้ไม่กี่ภาพก็มืดมากจนมองจากหลังกล้องก็ไม่เห็นรายละเอียดยังดีที่มีภาพที่พอใช้งานได้
นี่ถ้าเปลี่ยนไปใช้กล้องดิจิตอลดีๆตั้งแต่ปีแรก ก็อาจจะไม่ต้องตามลุ้นจนเหนื่อยถึงห้าปี
บทเรียนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โอกาสดีๆในธรรมชาติไม่ได้มีกันบ่อยนัก :)