เมื่อวานมีงานแถลงข่าวเปิดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่ายของช่างภาพชื่อดังระดับโลก Sebastiao Salgado ที่ชั้น 8 หอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทาง PIXNIQ ได้ส่งทีมงานไปร่วมพิธีดังกล่าว เราจึงอยากสรุปเรื่องราวที่คุณ Sebastiao Salgado ได้บรรยายไว้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมงานได้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของตนเองครับ
มองโลกผ่านสายตา เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastiao Salgado)

ช่างภาพชาวบราซิล วัย 72 ปี ผู้เดินทางไปทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ซาลกาโดเกิดปี 1944 ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นผืนฟาร์มในประเทศบราซิล เกินครึ่งของพื้นที่เป็นป่าฝนเขตร้อน มีความเป็นอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สภาพแวดล้อมของพื้นที่ในตอนนั้น แทบไม่รู้จักเรื่องการตลาด เป็นการเกษตรกรรมแบบเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ไม่ใช่เพื่อค้าขาย มีผลผลิตที่นำมาค้าขาย มีเพียงการปศุสัตว์ ซึ่งกว่าจะเดินทางไปค้าขาย ก็ต้องใช้เวลาแรมเดือน เนื่องจากสมัยนั้น ไม่มีถนน ไม่มีพาหนะที่สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน จนอายุได้ 15 ปี ก็ย้ายเข้าไปเรียนในเมือง ยุคนั้น บราซิลเริ่มเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม ตั้งแต่นั้น ซาลกาโดเริ่มสนใจเรื่องสังคม การเมือง จนเข้าศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ กระทั่งจบปริญญาโท และได้พบกับหญิงผู้มีบทบาทสำคัญในชีวิตมากที่สุด นั่นก็คือ ไลลา วานิค ซาลกาโด (Lelia Wanick Salgado) ภรรยาของเขานั่นเอง (ซาลกาโดใช้ชีวิตร่วมกับภรรยามานานกว่า 50 ปีแล้ว) ในยุคนั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรง จนบีบบังคับให้ทั้งคู่ต้องลี้ภัยออกจากประเทศบราซิล ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก
ซาลกาโดเริ่มต้นการทำงานด้วยอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ กระทั่งได้เดินทางไปทวีปแอฟริกาเพื่อทำงานให้แก่ World Bank การเดินทางครั้งนั้นเองถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ซาลกาโดเริ่มสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจัง เขาตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่เห็นผ่าน viewfinder ของกล้องเป็นอย่างมาก เขาพบว่าทุกสิ่งและทุกครั้งที่เขาเห็นผ่านกล้อง ไม่มีครั้งไหนที่จะรู้สึกเบื่อเลย ทุกสิ่งล้วนน่าสนใจและน่าทึ่ง
จากนั้นซาลกาโดผันตัวมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ กระทั่งในปี 1973 เขาเริ่มต้นงานถ่ายภาพสารคดีให้กับ Sygma ต่อมาก็ย้ายมาทำกับ Gamma จนถึงปี 1979 ได้ร่วมงานระดับนานาชาติกับกลุ่มช่างภาพ Magnum จนหลายปีต่อมา ซาลกาโดและภรรยาได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อแสดงผลงานของตัวเองขึ้นมาในฝรั่งเศส ชื่อว่า Amazonas Images
การถ่ายภาพสำหรับซาลกาโด ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าเรื่องไหนที่ผ่านมาในชีวิต เขาบันทึกเอาไว้เป็นภาพถ่าย ภาพถ่ายเปรียบเสมือนตัวแทนทุกสิ่งที่เขามองเห็น ทุกสิ่งที่เขาคิด พฤติกรรมที่เขาแสดงออก วิถีชีวิตที่เขาเป็น ซาลกาโดเสนอภาพถ่ายไว้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเชิงมนุษยวิทยา ภาพชีวิตคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงของสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมือง
ซาลกาโดมีผลงานภาพชุด Workers ซึ่งเป็นภาพนำเสนอเรื่องราวชีวิตของผู้คนจากหลากประเทศที่เขาเดินทางไปเยือน ภาพถ่ายเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตทุกชิ้นที่เกิดขึ้น เกิดจากฝีมือของมนุษย์ สองมือของมนุษย์นี้เองเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในโลก ส่งผลต่อพัฒนาการต่างๆในสังคม เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ทันสมัยในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น

ระหว่างที่ทำงานชุด Workers ซาลกาโดได้ประจักษ์กับการเดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนมากมาย ซึ่งโดยมากเกิดจากความจำเป็นมากกว่าความต้องการของตนเอง จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างงานภาพ ชุด Exodus (หรืออีกชื่อคือ Migration) งานชิ้นนี้เกิดจากการเดินทางไปยัง 40 ประเทศ ภายในเวลา 6 ปี ถือเป็นงานชิ้นสำคัญและท้าทายมากสำหรับเขา

ปกหนังสือภาพชุด EXODUS
เมื่อกลับไปยังบ้านเกิด ก็พบว่าพ่อแม่แก่ตัวลงมาก ผืนดินที่เป็นบ้านครั้งยังเป็นเด็ก บัดนี้ถูกโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของเซบาสเตียว ซาลกาโดและภรรยา แต่พื้นดินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ครั้งยังเป็นเด็ก พื้นที่แถบนั้นเกินครึ่งเป็นป่า แต่ตอนนั้นเหลือพื้นที่ป่าเพียงไม่ถึง 1% นั่นเป็นเพราะผลลัพธ์จากการพัฒนาประเทศ จากเกษตรกรรม ไปเป็นอุตสาหกรรม ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดทำลาย
ซาลกาโดและภรรยาจึงมีความคิดที่จะฟื้นฟูผืนป่าขึ้นมาใหม่ จึงได้ปรึกษากับเพื่อนวิศวกรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาป่าฝนเขตร้อน เราและภรรยาร่วมกันปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เคยเป็นมา จนกระทั่งสามารถเพิ่มจำนวนต้นไม้ จากร้อย จนปัจจุบันมีต้นไม้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านต้น โครงการนี้ทำให้เกิดสถาบันที่ไม่หวังผลกำไร ชื่อ Instituto Terra ที่เขาและภรรยาร่วมกันก่อตั้ง สถาบันนี้ได้ทำประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับนานาชาติมากมาย เงินตอบแทนที่ได้จากสถาบันถูกนำไปใช้ตอบแทนธรรมชาติ เงินบริจาคเหล่านั้นมีส่วนช่วยลดหย่อนภาษีในสหรัฐอเมริกา มีเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นทั้งในสเปน บราซิล ในภาครัฐและเอกชน และส่งผลย้อนกลับมาให้เขา ได้มีเงินทุนสำหรับการเดินทางสร้างสรรค์งานชิ้นต่อไปเพื่อโลกใบนี้ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ซาลกาโดเริ่มต้นการถ่ายภาพชีวิต จุดเริ่มของชีวิต สิ่งมีชีวิตที่เขาสนใจมาตลอด นั่นก็คือ มนุษย์ จนเกิดเป็นผลงานภาพชุด Genesis เป็นภาพถ่ายสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ภาพวิวทิวทัศน์ (Landscape) มนุษย์กับธรรมชาติ ความสมดุลของธรรมชาติ

ปกหนังสือภาพชุด GENESIS
ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของเซบาสเตียว ซาลกาโดถูกจัดแสดงอยู่ที่ห้องนิทรรศการชั้น 8 หอศิลป์ กทม. ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 8 มีนาคม 2560 ในงานยังสามารถซื้อหนังสือภาพของซาลกาโดได้ด้วย
สำหรับผู้ชื่นชอบผลงานของซาลกาโดที่พลาดโอกาสฟังการบรรยายของซาลกาโดในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ สามารถพบกับซาลกาโดเพื่อขอลายเซ็นได้อีกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ในเวลา 15.00-16.00 น.
เซบาสเตียวยอมรับว่างานแสดงภาพครั้งนี้ที่กรุงเทพ ถือเป็นงานครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เขาเคยแสดงภาพมา โดยที่ภาพถ่ายเหล่านี้ ถูกพิมพ์ด้วยเทคนิค Gelatin Silver Print จากฝรั่งเศสและอเมริกา ส่งตรงมายังกรุงเทพเพื่อจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ เมื่อสิ้นสุดงานแสดงภาพ จะถูกส่งกลับไปยังประเทศที่ผลิต โดยที่ยังไม่มีกำหนดว่าจะแสดงครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ดังนั้นถือเป็นโอกาสดีที่ควรไปเห็นด้วยตาตนเองสักครั้ง